หน้าเว็บ

เศรษฐกิจของสิงคโปร์

ขนาดเศรษฐกิจของสิงคโปร์วัดจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
(
Gross Domestic Products : GDP) ปี 2549 ประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและไทย  แต่สิงคโปร์มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในภูมิภาคเพียง 4.5 ล้านคน ทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรวัดจาก GDP ต่อหัวสูงถึง 29,474 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าไทยเกือบ 10 เท่า
ภาคบริการมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยมีบทบาทใน GDP ถึงร้อยละ 63.8  ภาคบริการที่สำคัญ เช่น ค้าส่ง ค้าปลีก การขนส่ง ภัตตาคารและโรงแรม การเงินการธนาคาร เป็นต้น รองลงมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 26  ที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ อาทิ ก่อสร้าง เกษตรกรรม และประมง ร้อยละ 10.2 
สิงคโปร์มีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก เป็นผู้นำด้านการต่อและซ่อมแซมเรือ ขณะที่สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ (Changi Airport) ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางด้านการเงินแห่งหนึ่งของโลก  การค้าเงินในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของสิงคโปร์มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว   ปัจจุบันบริษัทธุรกิจข้ามชาติต่างๆ ไม่น้อยกว่า 7,000 แห่ง มีสำนักงานที่สิงคโปร์World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลก ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 102 ประเทศ ด้วยวิธี Growth Competitiveness Index (GCI) ซึ่งเป็นการประเมินโอกาสของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว โดยพิจารณาจากระดับเทคโนโลยีของประเทศ ประสิทธิภาพขององค์กรรัฐ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ Business Competitiveness Index (BCI) ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโครงสร้างองค์กรธุรกิจและปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ พบว่าทั้ง GCI และ BCI ของสิงคโปร์ ในปี 2550 สูงสุดในเอเชีย  โดย GCI ของสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 7 และ BCI อยู่ในอันดับที่ 9 สูงกว่าญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 ของทั้งโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น